พูดถึงเขื่อน เชื่อได้ว่าทุกคนจะต้องนึกถึงสันเขื่อนอันกว้างใหญ่ ผืนน้ำที่ถูกกักเก็บไว้กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แต่อย่างที่รู้กันว่าปีนี้ ประเทศเราเจอกับปัญหาน้ำแล้งมาพักใหญ่ๆ วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆไปดูเขื่อนในอีกมุมมองหนึ่ง ในวันแล้งน้ำครับ ซึ่งเขื่อนที่จะพาไปวันนี้คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพนัก
จุดแรกที่เข้าไปเดินเที่ยว จะเป็นใต้ทางรถไฟที่พาดผ่านริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมากแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเห็นขบวนรถวิ่งบนสันเขื่อนลัดเลาะไปข้างๆ อ่างเก็บน้ำ มองดูเหมือนขบวนรถวิ่งไปบนผิวน้ำ จนชาวบ้านเรียกกันว่า รถไฟลอยน้ำ ตลอด 2 ข้างทางจะได้ชมทัศนียภาพข้างทางรถไฟอันงดงาม
แต่ในวันนี้น้ำแล้ง ระดับน้ำลดลงไปมาก ทำให้เราสามารถขับรถเข้ามาได้ถึงใต้ทางรถไฟเลย เห็นระดับน้ำแล้วตกใจครับ จากใต้ทางรถไฟ ยังเดินเข้าไปได้อีกไกลจนกว่าจะไปถึงจุดที่มีน้ำจริงๆ
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม เริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ
สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542 และทำพิธีปฐมฤกษ์กักเก็บน้ำเขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นองค์ประธาน และในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
ที่หยุดรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นที่หยุดรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี อยู่ในเขตทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยที่หยุดรถนี้จะมีรถไฟสายพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว คือ สายกรุงเทพ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เปิดให้บริการในช่วงเทศกาลการท่องเที่ยว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี
Advertisement
สืบเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเส้นทางรถไฟช่วงสถานีรถไฟแก่งเสือเต้นถึงสถานีรถไฟสุรนารายณ์ (เดิม) ซึ่งเส้นทางรถไฟตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อน ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องย้ายเส้นทางรถไฟที่จะถูกน้ำท่วมให้ทันกับการสร้างเขื่อน พร้อมทั้งสร้างที่หยุดรถไฟบริเวณดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนั้นได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 เมษายนพ.ศ. 2540 ใช้เวลา 14 เดือน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ทางรถไฟที่ย้ายมาสร้างใหม่จะอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำเป็นระยะทางรวม 24 กิโลเมตร เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เริ่มมีการเดินรถผ่านเส้นทางดังกล่าว
ท่อส่งน้ำเส้นนี้แหละครับ ใช้สูบน้ำจากเขื่อนไปใช้งาน
ขณะกำลังเดินๆถ่ายรูปท่ามกลางแดดร้อนระอุอยู่นั้น ผมก้อได้เห็นฝูงควายจำนวนมากเดินเรียงแถวกันไปลงเล่นน้ำ (เห็นแล้วอิจฉา วันนั้นอากาศร้อนมากๆจริงๆครับ) พอจะก้าวไปก้อนึกขึ้นได้ วันนี้เราใส่เสื้อสีออกส้มๆแดงๆนี่หว่า เดินไปถ่ายรูปใกล้ๆแล้วจะโดนควายไล่ไหมเนี่ย แต่แล้วความอยากถ่ายรูปที่มากกว่าความกลัวก้อทำให้ก้าวขาต่อไป (จริงๆเหมือนจะเคยอ่าน เค้าบอกว่าตาควายเห็นเป็นขาวดำ เพราะงั้นเรื่องเสื้อแดงไม่จริง)
หลังจากถ่ายภาพจนหนำใจแล้ว ก้อขึ้นรถย้ายไปถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกดินอีกด้านหนึ่งของเขื่อน ซึ่งในเวลานี้ บอกเลยว่า อารมณ์เหมือนอยู่ในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่แบบในหนังเลยครับ
แล้วก้อยืนถ่าย MV กันนิดนึง อิอิ อารมณ์ถูกทิ้งไว้กลางทาง
บรรยากาศรอบๆ มีเพื่อนๆมาถ่ายรูปกันเต็มเลยล
บริเวณพื้นมีดอกอะไรไม่รู้ ขึ้นเต็มไปหมด
นั่งรอพระอาทิตย์ตกดินอยู่นาน แต่วันนี้โชคไม่เข้าข้างเลยครับ พระอาทิตย์ขี้อายหลบอยู่หลังก้อนเมฆ เลยอดได้รูปพระอาทิตย์ตกดินแบบสวยๆเลย
จากนั้นก้อถ่ายรูปเล่นกันอีกสักพัก แล้วก้อกลับเข้ากรุงเทพกันครับ ใช้เวลาเดินทางต่ออีกไม่นานก้อถึงกรุงเทพ ใครมีโอกาสลองไปเที่ยวดูนะครับ ใกล้ๆนี่เอง ซึ่งทางด้านสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีหลากหลายสถานที่ ดังนี้
ฝั่งจังหวัดลพบุรี
อาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ มีสถานที่ปล่อยปลา และ จุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
หอคอยเฉลิมพระเกียรติ พิธภัณฑ์ฯ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
สันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีบริการรถลากจูง ชมสันเขื่อนฯ ไป - กลับความยาว 9,720 เมตร
ฝั่งจังหวัดสระบุรี
พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย (หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก) อยู่บริเวณท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ถ้าดูรีวิวนี้แล้วถูกใจ ฝากกด โหวต กด แชร์ เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
-----------------------------------------------------------------------
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/
https://www.facebook.com/voravuds
Voravud Santiraveewan
วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.19 น.