ความเดิม ตอนที่แล้ว Myanmar Now or Never # 1 : Bago , Bagan

https://th.readme.me/p/1356

มัณฑะเลย์ ถือเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของพระราชวงศ์พม่า และเป็นเมืองหลักที่สำคัญของมณฑลมัณฑะเลย์ ชาวพม่าถือว่าเมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองที่มีสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนา มีนาฏศิลป์และคีตศิลป์ที่ดีที่สุดในประเทศ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือพระราชวังหลวงของพระเจ้ามินดง มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองมัณฑะเลย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีวัดวาอาราม โบราณสถานและสถูปเจดีย์มากมาย เช่นวัดมหามุนีที่ชาวพุทธทั่วโลกเลื่อมใสศรัทธา วัดกุโสดอ ซึ่งได้เก็บรักษาพระไตรปิฎกที่ถือว่าเป็นตำราเล่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ

เช้าวันที่ 4 ผมออกเดินทางเพื่อจะไปสนามบินพุกามกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า แสงแรกเริ่มปรากฏให้ผมเห็นพร้อมกับอาการปวดใจเป็นอย่างยิ่ง ทำไมวันที่ผมมาถึงพุกามวันแรก วันที่ไปรอดูแสงแรกที่เจดีย์ชเวสันดอร์ แสงถึงไม่สวยเหมือนวันนี้ นั่งรถไปน้ำตาตกในไปครับ สนามบินพุกามห่างออกจากตัวเมืองพุกามไปไกลพอสมควร เมื่อมาถึงสนามบินก็ทำการเช็คอิน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการแจกสติ๊กเกอร์ให้กับผู้โดยสารแปะไว้ที่หน้าอก เพื่อเป็นการแยกว่าผู้โดยสารคนนี้บินของสายการบินนี้ สำหรับผมใช้บริการของ Air Bagan ซึ่งเพิ่งจะมีข่าวเครื่องบินตกไปหลังจากที่ผมกลับมาถึงเมืองไทยไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ที่นี่ไม่มีการโหลดกระเป๋าทางสายพาน มีแต่จับกระเป๋ามากองรวมกัน แล้วยกขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักสมัยโบราณที่ผมเคยเห็นตั้งแต่เด็ก ๆ เครื่องชั่งที่หน้าปัดเป็นแบบเหมือนเครื่องชั่งกิโลของแม่ค้าบ้านเรา หน้าปัดใหญ่ ๆ ครับ แถมเวลาขึ้นเครื่องบิน ไม่มีการระบุหมายเลขที่นั่งด้วย เลือกนั่งกันได้ตามใจครับ ใครอยากนั่งริมหน้าต่างก็ต้องรีบขึ้นไปจับจองที่นั่งกันเอาเอง

บนเครื่องมีบริการน้ำดื่มและแจกลูกอมที่ผลิตจากบ้านเราแจกคนละเม็ด เราใช้เวลาในการบินประมาณ 30 นาที ก็ถึงสนามบินมัณฑะเลย์ครับ

สนามบินมัณฑะเลย์เป็นสนามบินน้อง ๆ สนามบินย่างกุ้งเลยครับ เมื่อจัดการรับกระเป๋าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่เมืองมอญยอ (Monywa) ซึ่งอยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ประมาณ 136 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง รถไม่สามารถทำความเร็วได้เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ ระหว่างทางเราแวะเที่ยวกันก่อน จุดหมายแรกของวันนี้อยู่ที่วัดโพตาตองครับ

วัดโพตาตอง (Boditahtaung) มีสิ่งที่เป็นที่สุดในโลกด้วย คือพระยืนที่สูงที่สุดในโลก สูงถึง 132 เมตร ตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลครับ ภายในองค์พระแบ่งเป็นชั้น ๆ ประมาณ 19 ชั้น

แต่ละชั้นจะมีจิตกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ มีภาพเขียนตั้งแต่นรกภูมิไปจนถึงชั้นสวรรค์ เขาบอกว่าถ้าหากขึ้นไปถึงชั้นบนสุด จะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ผมยังไม่อยากขึ้นสวรรค์ตอนนี้ ก็เลยขอเดินสำรวจชั้นล่าง ๆ ก็พอ

Advertisementshopee

นอกจากจะมีพระยืนที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ยังมีพระนอน และพระพุทธรูป 1,000 องค์นั่งวิปัสสนาใต้ต้นโพธิ์ 1,000 ต้นครับ

หลังจากนั้นเราแวะชมจุดที่ 2 กันที่ วัดเจดีย์สัมพุทเธ (Thanboddhay Temple) ซึ่งสร้างขึ้นคล้าย ๆ บุโรพุทโธ ที่เกาะชวา อินโดนีเซียเลยครับ แต่ที่นี่มีสีสันฉูดฉาดกว่าที่บุโรพุทโธมาก ๆ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 700 กว่าปีที่แล้ว แต่มีการบูรณะใหม่ ในปี 2486 นี่เองครับ เขาบอกกันว่าจุดเด่นของวัดนี้คือที่ด้านนอกวิหารมีเจดีย์รายรอบถึง 845 องค์ สำหรับจุดที่จะสามารถมองเห็นเจดีย์ 845 องค์นั้น เราจะต้องขึ้นไปบนหอคอย ซึ่งทางวัดได้สร้างไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชมวิวครับ

ด้านในวัดครับ มีพระพุทธรูปมากมาย

ด้านในวิหารจะมีการนำพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ แบบนี้มาประดับไว้ตามเสา ผนัง เพดาน มองแล้วละลานตาไปหมดครับ นับได้ 582,363 องค์ แต่ผมว่าความละเอียดปราณีตขององค์พระสู้บ้านเราไม่ได้ครับ องค์พระเหมือนหล่อจากปูนพลาสเตอร์บ้านเราแล้วใช้การเขียนลายให้มองดูแล้วคล้ายพระพุทธรูปมากกว่า

จากนั้นนั่งรถกันต่อ ลากยาวไปจนถึงจุดหมายที่ 3 ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของวันนี้ที่ถ้ำโพวินต่องครับ

Advertisement

ถ้ำโพวินต่อง (Po Win Daung) เป็นถ้ำที่แกะสลักลึกเข้าไปในหน้าผา ภายในถ้ำจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านใน มีภาพเขียนฝาผนัง ซุ้มเคล็ก เขาว่ากันว่าละม้ายคล้ายกับ ถ้ำอจันต้า ที่ประเทศอินเดีย อยู่ริมแม่น้ำชินด์วิน แต่ผมไม่รู้ว่าคล้ายหรือเปล่านะครับเพราะยังไม่เคยไป อิอิ

ที่เชิงบันไดตรงทางขึ้นถ้ำ จะมีเด็ก ๆ อาสาสมัครเป็นไกด์ เอ่ยปากโฆษณาว่า จะพาเราไปดูทุกซอกทุกมุม และมุมเด็ด ๆ ที่คนอื่นไม่เคยไป ตอนแรกเราก็ทำทีไม่สนใจหรอกครับ แต่ไกด์ตัวน้อยก็ตามตื้อเราไม่ห่าง พยายามเดินนำเราไปทุกทิศทาง บริเวณทางขึ้นมีฝูงลิงเยอะแยะไปหมด จะเดินชมถ้ำต้องระวังด้วยนะครับ เราเดินจนมาถึงถ้ำแรกก็ยังรู้สึกเฉย ๆ กับถ้ำ ผมไม่ได้เดินเข้าไปดูข้างใน เพียงแค่ชะโงกหน้าเข้าไปดูข้างในเฉย ๆ ที่ไม่อยากเดินเข้าไปดูเพราะจะต้องถอดรองเท้าด้วย แล้วพื้นถ้ำมันก็ค่อนข้างรก ผมกลัวว่าจะโดนหนามตำ เลยเพียงแค่ชะโงกหน้าเข้าไปชมอย่างเดียว แต่เมื่อพอเดินมาถึงถ้ำที่ 2 ความสวยงามเริ่มมากขึ้น ผมรีบถอดรองเท้าแล้วรีบเดินเข้าไปข้างในทันที เพียงแค่ก้าวเท้าซ้ายเข้าไปข้างเดียว เท้าขวายังไม่ทันตาม ผมก็ได้ยินเสียงไกด์ร้องเตือนออกมาว่า ภายในถ้ำค่อนข้างมืด ให้ระวังงูด้วย เท่านั้นแหละครับ ผมต้องรีบชักเท้าซ้ายที่ก้าวออกไปแล้ว ก้าวถอยหลังออกมาทันที ถึงแม้ว่าสมาชิกในทริปของผมครั้งนี้จะเป็นหมอกันถึง 3 คน พยาบาลอีก 1 คน ผมว่าก็คงจะช่วยอะไรผมไม่ได้หากโดนงูฉก ณ ถ้ำแห่งนี้ เพราะแค่กว่าจะไปหาเซรุ่มมาได้ คงใช้เวลาหลายวันแน่ ๆ อิอิ ไกด์เริ่มพูดให้พวกผมคลายกังวลลง บอกว่า งูอาจจะไม่มี เพียงแต่ให้ระวังเวลาเดินเข้าไปในจุดมืด ๆ เท่านั้นเองครับ

แต่ละถ้ำก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป บางถ้ำเหมือนเขาวงกต

บางถ้ำก็มีจิตกรรมฝาผนังสวยงามมาก ๆ

มีพระพุทธรูปเรียงรายอยู่เต็มไปหมดครับ

ถ้ำนี้ก็สวยครับ

พื้นที่ทั้งหมดค่อนข้างกว้างขวางมาก มีถ้ำน้อยใหญ่มากมาย สำหรับการเที่ยวถ้ำนี้ ผมแนะนำว่า ควรจะให้มีไกด์พาเราเที่ยวชมครับ รับรองว่าจะได้รับอรรถรสมากกว่าที่เราเดินชมเอง เพราะถ้าเดินชมเอง เราอาจพลาดจุดสำคัญ ๆ ของที่นี่ไปได้ครับแสงเริ่มจะหมดแล้ว ผมคงต้องเดินทางกันต่อเพื่อเข้าที่พัก เพราะต้องใช้เวลาเดินทางกันอีกเป็นชั่วโมงครับ คืนนี้ผมพักที่ Win Unity Hotel คืนละประมาณ 1,500 บาท ที่พักติดบึงน้ำขนาดใหญ่ครับ บรรยากาศดีทีเดียว

เช้าวันที่ 5 บรรยากาศยามเช้าที่นี่ดีมาก ๆ มีหมอกบาง ๆ ขึ้นบนผิวน้ำในบึงด้วย หลังจากตุนเสบียงกันเรียบร้อยแล้ว ผมออกเดินทางจากมอญยอ (Monywa) มุ่งหน้าสู่สะกาย (Sagaing) นั่งรถยังไม่ทันพ้นตลาดมอญยอเลยครับ ก็เห็นกลุ่มแม่ชีออกมารับอาหารที่ชาวบ้านมาตั้งไว้ที่หน้าบ้านเป็นจำนวนมาก ผมว่าเป็นร้อยคน แต่การมาของแม่ชีมากันแบบไร้ทิศทาง ไม่เหมือนการบิณฑบาตรของพระที่จะเข้าแถวกันมา มันดูชุลมุนน่าดูเลยครับ

น่าดูขนาดผมขอให้คนขับรถเขาจอดรถ แล้วรีบลงไปเก็บภาพ แต่การที่ชุลมุนมาก จนทำให้ผมแทบไม่ได้ภาพเลย ภาพที่ผมเห็นคือชาวบ้านเขาจะเอาอาหาร ดูแล้วน่าจะเป็นถั่ว มาตั้งไว้ที่หน้าบ้าน จากนั้นแม่ชีแต่ละคนก็จะเดินมาตักถั่วแล้วเอามาใส่ภาชนะของตัวเองที่เทินอยู่บนศรีษะ บางคนก็เดินเคี้ยวไปเลยก็มีครับ แต่มีแค่เพียงถั่วเท่านั้น อาหารอย่างอื่นไม่มีเลย แปลกดีเหมือนกันครับ

จากนั้นก็เดินตามกันต่อ เห็นแสงสวย ๆ ตลอดทาง แสงแบบนี้หาได้ไม่ยากในพม่าครับ

จากนั้นผมเดินทางกันต่อเพื่อไปยังจุดหมายแรกของผม คือ วัดกองมูดอว์ ซึ่งอยู่ระหว่างทางก่อนถึง Sagaing Hill

วัดกองมูดอว์ ( Kaunghmudaw Pagoda) เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่มาก เชื่อว่าภายในบรรจุพระบรมเกศาธาตุครับ รูปทรงคล้ายส้มโอคว่ำ กี้บอกว่า ได้รูปแบบมาจากยกทรงพระมเหสีของผู้สร้างครับ แต่เดิมเลยเจดีย์นี้มีสีขาว แต่ตอนหลังถูกบูรณะใหม่ให้เป็นสีทองครับ ด้านในเสียค่ากล้องด้วย แต่ผมแนะนำว่า ให้ถ่ายรูปจากภายนอกวัดจะดีกว่า เพราะจะมองเห็นยอดเจดีย์ แต่ถ้าเข้าไปถ่ายในบริเวณวัด ถ่ายเจดีย์ออกมาก็จะมองไม่เห็นยอดเจดีย์ครับ

จากนั้นมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่ 2 Sagaing Hill ครับ

Sagaing Hill เป็นจุดชมวิวมุมสูงที่มองเห็นกลุ่มเจดีย์ต่าง ๆ ในเมืองสะกายได้อย่างมากมายครับ บน Sagaing Hill ผมได้แวะชมวัดอูมินทอนซ์ (Umin Thounzeh) ซึ่งอยู่กลางเนินเขา วัดนี้ถูกเรียกว่าวัด 30 ถ้ำ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปถึง 45 องค์ การเข้าชมต้องเสียค่าเข้าคนละ 3 USD ครับ

จากจุดชมวิวด้านบนของวัดอูมินทอนซ์ มองเห็นวัดกองมูดอว์ ได้อย่างชัดเจน

รอบ ๆ ข้างก็ยังเห็นกลุ่มเจดีย์ต่าง ๆ อีกเยอะแยะไปหมดเลยครับ เราใช้เวลาอยู่บนนี้พอสมควร ก็เดินทางกันต่อ สู่จุดหมายที่ 3 วัดชเวจัดจา

เรานั่งรถข้ามแม่น้ำอิรวดีโดยใช้สะพานอังวะ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลจีนเมื่อปี 2548 ด้านข้างของสะพานอังวะจะเห็นสะพานเก่าที่สร้างโดยอังกฤษสมัยเป็นอาณานิคมครับ วัดชเวจัดจา (Shwe Kyet Kay) อยู่ใกล้ ๆ เชิงสะพานอังวะ ติดท่าเรือ

ถึงแล้วครับ วัดชเวจัดจา (Shwe Kyet Kay)

ที่วัดแห่งนี้สามารถชมวิว Sagaing Hill ได้อย่างสวยงาม มองเห็นเจดีย์อยู่เต็มไปหมดเลย เป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาดครับ

จากนั้นเราเดินทางกันต่อ เพื่อมุ่งหน้าไปเมืองอังวะ (Inwa) แต่การที่จะเดินทางไปยังเมืองอังวะ เราจะต้องนั่งเรือข้ามฟากครับ เมืองอังวะตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำมิดแงมาบรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ทางตอนใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ เรานั่งเรือข้ามฟากกันไม่นาน ก็ขึ้นมายังเมืองอังวะ สำหรับการเดินทางในอังวะต้องอาศัยรถม้าครับ รถม้า 1 คัน สามารถนั่งได้ประมาณ 3 คน ราคาเหมาคันละ 6,000 จ๊าดครับ

เส้นทางที่ม้าพาเราวิ่งไปนั้นมีฝุ่นตลอดเส้นทาง ยังไงก็หาผ้าปิดปากไปด้วยก็ดีครับ ใช้เวลานั่งรถม้าประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มาจอดที่จุดหมายที่ 4 วัดบากะยะจาวน์

วัดบากะยะจาวน์ (Bhagaya Kyaung) พระอารามไม้สักศิลปะยุคต้น ๆ ของเมืองอังวะ สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง มีเสาไม้อยู่ 267 ต้น ตรงกลางอาคารทำหลังคาเป็นทรงปราสาทแบบพม่า

จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ไม้และศิลปะลวดลายการแกะสลักไม้สัก เป็นลวดลายที่เกิดจากฝีมือเชลยศึกชาวไทยในสมัยก่อนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ พญาครุฑ ลวดลายนกยูง

ที่ด้านหลังของวัดบากะยะจาวน์ ยังแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับเป็นที่สอนหนังสือเณรด้วย

ผมไปแอบดูมา เณรน่ารักมาก ๆ ครับ

สำหรับการเดินชมภายในวัด ควรเดินโดยอาศัยวิชาตัวเบาด้วยก็จะดีนะครับ เพราะทุกย่างก้าวจะมีเสียงไม้ลั่นอยู่ตลอดเวลา

นั่งรถม้าต่อมาอีกนิดหน่อยก็มาถึงจุดหมายที่ 5 หอคอยที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังเมืองอังวะ หอคอยแห่งนี้สูง 27 เมตร ตอนบนของหอคอยได้รับการบูรณะใหม่

เนื่องจากของเดิมได้พังลงมาตอนแผ่นดินไหว ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปดูวิวข้างบนได้ แต่ผมดูจากสภาพแล้วไม่กล้าเสี่ยงที่จะเอาชีวิตไปทิ้งที่หอคอยครับ เพราะเท่าที่มองดูองศาของหอคอย มันเอนยังไงก็ไม่รู้ ผมเกรงว่าหากผมขึ้นไปแล้วไปทำหอคอยถล่มขึ้นมา คงเป็นเรื่องใหญ่แน่ ๆ ครับ ผมว่าที่นี่น่าจะให้สมญานามหอคอยแห่งนี้ใหม่ว่า หอเอนเมืองอังวะจะเหมาะสมกว่าครับ

นั่งรถม้าต่อไปอีกนิดหน่อย ก็ถึงจุดหมายที่ 6 วัดมหาอองมเยบองซาน (Maha Aung Mye Bon San) เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน มีหลังคาชั้นซ้อนแบบก่ออิฐของพม่าสมัยกองบอง เหมาะสำหรับศึกษาทรวดทรงของสถาปัตยกรรมและลวดลายปูนปั้นประดับ

ช่วงที่ผมไป ด้านบนของวัดไม่อนุญาตให้เข้าชม เนื่องจากผลกระทบจากแผ่นดินไหวช่วงก่อนที่ผมจะเดินทางประมาณ 1 เดือนครับ จากนั้นนั่งรถม้าต่อเพื่อกลับมายังท่าเรือ แต่ที่น่าแปลกใจคือ นั่งรถแว๊บเดียวก็มาถึงท่าเรือแล้ว ทั้ง ๆ ที่ขามา นั่งรถม้าไกลมาก ๆ

จากอังวะเรามุ่งหน้าต่อไปยังจุดหมายที่ 7 ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของวันคือ สะพานอุเบง (U Bieng) แห่งอังวะ ถือเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีนายช่างผู้สร้างสะพานแห่งนี้ชื่อ อูเบ็ง เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างจนกลายเป็นชื่อของสะพานไป

ตัวสะพานไม้ยาวถึง 1,450 เมตร โดยใช้ไม้สักที่รื้อมาจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ จำนวนมากถึง 1,089 ต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่องรอยความรุ่งเรืองของกรุงอังวะโบราณมีเหลือให้เห็นน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่มาก่อน

มีความเชื่อที่ว่า พื้นที่รอบ ๆ ของสะพานอุเบง เป็นที่ตั้งของชุมชนเชลยศึกชาวอยุธยาในสมัยที่พม่ายกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกครั้งสุดท้าย และได้กวาดต้อนชาวอยุธยากลับมาเป็นเชลยศึกจำนวนมาก

สะพานอูเบ็ง มีอายุมากกว่า 200 ปีแล้ว โดยสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปดุง ซึ่งตรงกับช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย สะพานแห่งนี้เชื่อมระหว่างเมืองอมรปุระกับเกาะแต๊ะเตหยัว ที่อยู่กลางทะเลสาบตองทามานครับ

ผมมาถึงที่นี่ตั้งแต่เวลา 15.30 น. ยังมีเวลาเหลือค่อนข้างเยอะกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน พอรถจอดสนิทก็มีเจ้าของเรือพายมาชักชวนเราให้ใช้บริการของเขา โดยเรือจะพาพายออกไปกลางน้ำเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน สนนราคาลำละ 5,000 จ๊าด/4 คน แต่ผมยังไม่ตอบตกลง เนื่องจากอยากจะไปหาเดินดูมุมถ่ายรูปก่อน หากไม่มีมุมที่ต้องการ การลงเรือจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของผม

ผมเห็นว่ายังพอมีเวลาอีกประมาณชั่วโมงครึ่ง พระอาทิตย์ถึงจะตกดิน เลยเดินไปหามุมจนถึงอีกฝั่งของสะพานไม้โดยที่ไม่ได้เอาขาตั้งกล้องไป เพราะคิดว่ามันจะเป็นภาระ และเมื่อหามุมเหมาะ ๆ ได้แล้วจะกลับมาเอาขาตั้งกล้องในภายหลัง

ผมเดินไปจนเกือบถึงอีกฝั่งหนึ่งเลยครับ

ตลอดความยาว 1,450 เมตร จะมีศาลาให้นั่งพักอยู่ 4 จุด จากการที่ผมเดินสำรวจตลอดความยาวของสะพาน ผมเลยตัดสินใจที่จะเลือกเก็บภาพพระอาทิตย์ตกดินบริเวณศาลาพักช่วงกลางสะพาน

เพราะที่ศาลาพักจุดนี้จะมีบันไดให้เดินลงไปข้างล่างได้ครับ ช่วงที่ผมไปปริมาณน้ำในทะเลสาบตองทามานลดลงมาก ทำให้เกิดสันดอนอยู่ค่อนข้างเยอะ บริเวณที่เกิดสันดอนก็จะมีชาวบ้านเข้ามาทำเกษตรกรรมกันเต็มพื้นที่

ผมจะอาศัยพื้นที่ทางการเกษตรด้านล่างเพื่อเป็นจุดเก็บภาพยามพระอาทิตย์ตกครับ


อีกไม่นานควายเหล็กคงเข้ามาแทนควายจริง ๆ อย่างแน่นอน

เมื่อหาที่หมายได้แล้ว สิ่งที่จะทำต่อไปคือการเดินไปเอาขาตั้งกล้อง มองดูจากเวลาแล้ว ผมมีเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ที่จะต้องเดินไปเอาขาตั้งกล้องและกลับมายังกึ่งกลางสะพานแห่งนี้ ระยะทางจากบนสะพานมองออกไปยังจุดจอดรถ มันดูไม่ไกลเลย แต่เอาเข้าจริง ๆ เวลาที่ใช้ในการเดินค่อนข้างเยอะกว่าที่ผมคำนวณด้วยสายตา อีกทั้งอาการปวดเท้าของผมก็ยังไม่ทุเลาลงเลย ทำให้ต้องกึ่งเดินกึ่งเขยกไปจนถึงลานจอดรถ

จ้ำเท้าไป ถ่ายรูปไปครับ

เมื่อมาถึงที่จอดรถปรากฏว่า รถล๊อคแถมคนขับรถก็ไม่อยู่ที่รถด้วย ผมงุ่นง่านอยู่บริเวณนั้นอยู่นาน พระอาทิตย์เริ่มอ่อนแสงลงทุกที ผมเลยตัดสินใจเดินไปหามุมตรงใกล้ ๆ ลานจอดรถนั่นแหล่ะครับ ขากล้องไม่ต้องใช้แล้วก็ได้ เมื่อไปถึงก็เห็น “ขาว" จับจองพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว แต่ผมว่ามุมตรงลานจอดรถ มันไม่ค่อยได้ดังใจผมเลย

ตอนนี้ผมชักเริ่มอยากไปเก็บภาพพระอาทิตย์ตกดินกลางทะเลสาบเสียแล้ว แต่ดูจากเวลา เรือก็คงพายพาผมออกไปไม่ทันแล้ว ขาว ก็เลยเสนอไอเดียให้ผมเดินลุยน้ำเพื่อไปยังเนินดินเล็ก ๆ ที่อยู่กลางน้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ผมยืนไม่ไกลนัก ผมเองก็เป็นประเภทขี้อาย เพราะไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวคนไหนจะกล้าเดินลุยน้ำออกไป ถ้าเดินลุยน้ำออกไปคงเป็นเป้าสายตาของใครหลาย ๆ คนบนสะพานเป็นแน่ ๆ ความอายทำให้ผมไม่กล้าเดินออกไป ขาวกระทุ้งกลับมาว่า “นี่ถ้าเท้าผมไม่เจ็บ ผมเดินลุยน้ำไปนานแล้ว" ผมได้ยินดังนั้นยิ่งเพิ่มความกดดันให้ผมขึ้นไปอีก ผมคิดในใจ เอาไงดีล่ะ หรือว่าจะลองลุยดู ความคิดยังไม่ทันหมดไปจากสมอง ผมก็เหลือบเห็น “เจ" ก็กำลังเดินตรงมาที่ผมยืนลังเลอยู่พอดี ผมเลยชักชวนเจว่า ลุยน้ำข้ามไปถ่ายกันไหม เจตอบตกลงทันที เพื่อไม่ให้เป็นการช้า ผมรีบถลกขากางเกงแล้วค่อย ๆ เดินข้ามน้ำเพื่อไปยังเนินดินอย่างระมัดระวัง ใต้น้ำมีขี้เลนทำให้เลื่อนพอสมควรครับ

ตอนแรกลังเลอยู่ว่าจะเอาเป้กล้องข้ามฟากไปด้วยดีหรือไม่ หรือจะฝากขาวไว้บนฝั่ง เพราะหากสะพายเป้ไปแล้ว เกิดผมลื่นตกน้ำ อุปกรณ์ต่าง ๆ ในเป้คงเสียหายแน่นอน ท้ายสุดผมก็ตัดสินใจแบกเป้ไปด้วย ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกครับ

เพราะผมกดชัตเตอร์ไปได้ไม่กี่รูป ปรากฏว่าแบตเตอรี่กล้องหมดพอดี เลยงัดแบตเตอรี่สำรองมาใช้ครับ

พระอาทิตย์ค่อย ๆ ตกลงทีละน้อย

เพียงไม่นานก็หายว๊าบไปกับตา

หลังพระอาทิตย์ตกดินแล้ว แสงสุดท้ายเริ่มปรากฏ ท้องฟ้าวันนี้ถือว่าค่อนข้างเคลียร์ ทำให้ได้แสงสุดท้ายมาดังใจหวังครับ

เมื่อแสงหมด ผมก็เดินทางกลับสู่ตัวมัณฑะเลย์ ระยะทางจากสะพานอุเบงไปมัณฑะเลย์ประมาณ 12 กิโลเมตรครับ

ตลอด 5 วันที่ผ่านมา เราห่างจากอาหารไทยมานาน มีคนแนะนำว่า ร้านโก้ ในมัณฑะเลย์ เปิดขายอาหารไทย อร่อยมาก ๆ ถ้าไม่โทรจองล่วงหน้าจะไม่มีโต๊ะให้นั่ง แต่เราเตรียมการณ์มาเป็นอย่างดี โทรจองตั้งแต่อยู่ที่อังวะแล้วครับ ทำให้ค่ำนี้เรามีความสุขกับอาหารไทยเป็นอย่างมาก ขอบอกว่า ที่นี่ทำอาหารไทยได้อร่อยกว่าร้านอาหารไทยบางร้านในบ้านเราด้วยครับ หลังอาหารค่ำ เราตรงเข้าสู่ที่พักที่ Zegyo Hotel ราคาห้องประมาณ 1,200 บาทครับ ช่วงที่ผมเข้าพัก เป็นช่วงที่มีการจัดงานอะไรสักอย่าง ทำให้มีการปิดจราจรบริเวณหน้าโรงแรม คนขับพยายามขับรถพาวนเพื่อให้เข้าใกล้โรงแรมมากที่สุด ระหว่างที่นั่งวนอยู่ในรถ ผมก็เห็นร้านแผงลอยที่ตั้งอยู่ริมถนน ลักษณะร้านคล้าย ๆ กันตั้งอยู่หลายร้านมากๆ สังเกตดี ๆ ก็ถึงบางอ้อครับ ที่แท้เป็นร้าน Sex Shop นั่นเอง ขายกันอย่างโจ๋งครึ่มเลยครับ คืนนี้ผมคงต้องรีบนอนเร็วครับ เพราะพรุ่งนี้ผมมีกิจกรรมให้ทำกันแต่เช้าตรู่ครับ

ตี 4 ของวันที่ 6 ผมต้องรีบตื่นกันแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายแรกของผมในวันนี้ คือวัดมหามุณี เพื่อจะไปชมพิธีกรรมอันน่าทึ่งจนเป็นที่ร่ำลือกันไปทั่วโลก เกิดขึ้นที่วัดแห่งนี้ทุกวัน โดยได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานกว่า 200 ปีแล้ว พิธีกรรมที่ว่าคือ พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี และที่วัดแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของชาวพม่าครับ

พระมหามัยมุนี หรือ พระยะไข่ ถือเป็นองค์พระศักดิ์สิทธิ์อันดับ 1 ของพม่า ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจให้ไว้ภายในกายของพระพุทธรูปองค์นี้ ให้ดำรงพระพุทธศาสนาแทนพระองค์สืบมา ซึ่งพระมหามัยมุนีองค์นี้ พระเจ้าปดุงได้อัญเชิญมาหลังจากได้พิชิตแคว้นยะไข่ ธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ถวายจึงเป็นการถวายการปรนนิบัติ อันเสมือนว่าพระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่จริง ทุก ๆ เช้าต้องให้องค์พระมหามัยมุนี ตื่นมาด้วยความสดชื่น จึงมีพิธีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีขึ้นทุกเช้ามืด

พระมหามัยมุนี หล่อด้วยทองสำริด ประทับนั่ง ปางมารวิชัยแบบพม่า พระหัตถ์ขวาเหยียดชี้ตรงลงที่ธรณี สูงประมาณ 3 เมตร การที่พระมหามัยมุนีเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพม่ามาแต่ครั้งโบราณ กษัตริย์ ราชนิกูล ผู้ร่ำรวยและศรัทธา จะถวายเครื่องทรงทองคำ เครื่องประดับอัญมณีมีค่าต่างๆ คล้องอยู่แทบเต็มองค์

ผมมาถึงวัดประมาณ 04.10 น. มาถึงก็เห็นญาติโยมมายืนอออยู่ที่หน้าวิหาร ซึ่งตอนนี้ยังถูกปิดด้วยแม่กุญแจอยู่ ผมมายืนรออยู่ที่จุดนี้ไม่ถึง 1 นาที เจ้าหน้าที่วัดก็มาไขแม่กุญแจเปิดให้ญาติโยมได้เข้าไปในวิหาร ถือว่าเป็นจังหวะดีของผมมาก ผมรีบเดินเข้าไปด้านในก่อนคนอื่น จึงสามารถเลือกทำเลที่เหมาะ ๆ สำหรับการชมพิธีล้างพระพักตร์ได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ตอนแรกผมไปนั่งรออยู่ตรงจุดที่เขามาจุดธูปเทียนกราบไหว้พระมหามัยมุณี ซึ่งดูจากสายตาเขาแบ่งพื้นที่ค่อนข้างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่วัดชี้ให้ผมเข้าไปข้างในได้อีก เรียกได้ว่า อยู่ตรงซุ้มประตูของพิธีเลยก็ว่าได้ครับ ผมนั่งอยู่แถวหน้าสุดของญาติโยม ด้านหน้าเขาจะกันเป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ ส่วนพื้นที่ที่ผมจะไปรอชมตอนแรกนั้น เป็นพื้นที่สำหรับญาติโยมที่เป็นผู้หญิงครับ สำหรับญาติโยมผู้ชาย สามารถมานั่งชมได้ใกล้ ๆ เรียกว่าติดขอบเวทีเลยก็ว่าได้ครับ ระหว่างที่รอพิธีจะเริ่ม เจ้าหน้าที่ทางสงฆ์ก็จะจัดเตรียมพานพุ่ม เครื่องล้างพระพักตร์ รวมถึงอาหารที่จะนำถวายต่อพระมหามัยมุนีด้วยครับ

04.30 น.เวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เจ้าอาวาสผู้ทำพิธีล้างพระพักตร์เข้าสู่พิธี เริ่มด้วยการถวายพานพุ่มดอกไม้ ผมสังเกตว่า พานพุ่มดอกไม้จะตกแต่งเลียนแบบมหาบูชาสถานของชาวพม่า ที่ผมดูออกเพราะผมเห็นคล้ายรูปพระธาตุอินทร์แขวนครับ จากนั้นจะเปิดมโหรีขับกล่อม นำน้ำมาล้างพระโอษฐ์ นำแปรงสีฟันมาแปรงพระทนต์ให้

จากนั้นนำน้ำหอมและแป้งทานาคามาเช็ดพระพักตร์

แล้วนำผ้าขาวของพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธามาเช็ดทานาคาออก

ผมแอบเห็นมีขั้นตอนการใช้บัสโซขัดที่องค์พระด้วย

จากนั้นก็ทำการพัดครับ

เช็ดพระพักต์อีกรอบ

ถอดจีวรกันเปื้อนพระมหามัยมุนี และทำการพัดอีกรอบครับ

จากนั้นจะนำภัตราหารมาถวาย เป็นอันเสร็จพิธี ตลอดพิธีก็จะมีชาวพม่านั่งสวดมนต์กันไปด้วย พิธีนี้ใช้เวลา 1 ชั่วโมง

หลังเสร็จพิธี ผมมีโอกาสได้เข้าไปปิดทองที่องค์พระ และได้กินข้าวที่ท่านเจ้าอาวาสได้ถวายแด่องค์มหามัยมุนี รวมถึงได้นำน้ำที่ล้างพระพักตร์มาชโลมที่ศรีษะของผมด้วยเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง ด้านในองค์พระไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปปิดทองนะครับ

จุดนี้เป็นพื้นที่ที่เขาให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาร่วมพิธีล้างพระพักตร์ฯ โดยกันพื้นที่ด้านหน้าให้ผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะอยู่ด้านหลังครับ

ความหนาของเนื้อทองที่แปะอยู่บนองค์พระ เห็นเขาว่าหนาถึง 3 นิ้ว ทำให้เมื่อสัมผัสที่องค์พระจะรู้สึกว่าองค์พระนั่นนิ่มเลยครับ เสียดายอยู่อย่างหนึ่งที่ผมหาซื้อผ้าเพื่อจะนำไปฝากให้เจ้าหน้าที่นำเข้าร่วมพิธีช่วงเช็ดพระพักตร์องค์พระฯ เพื่อจะได้นำผ้านั้นกลับมาบูชาที่บ้าน

วัดมหามุนี (Maha Muni Temple) มีรูปหล่อเทวรูปสัมฤทธิ์โบราณซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดว่าถูกนำมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ.2106 เนื่องจากพระองค์ทรงมีชัยเหนือศัตรูที่เคยอยู่ในเขตประเทศไทย เทวรูปสัมฤทธิ์ดังกล่าวประกอบด้วย เทวรูป ช้างสามเศียร ราชสีห์ เทวรูปเหล่านี้ถือเป็นศิลปวัตถุที่เดินทางไกลมาก เพราะสร้างขึ้นในดินแดนเขมรเมื่อเกือบ 1,000 ปีก่อน ในสมัยนั้นเทวรูปสัมฤทธิ์เหล่านี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่า เมื่อเกิดการศึกสงครามคราใด ผู้ชนะศึกก็จะนำไปเก็บไว้ที่บ้านเมืองของตนด้วยเสมอ เคยมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยานาน 146 ปี ก่อนที่จะถึงคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 จนถูกนำมาไว้ที่กรุงหงสาวดี ก่อนที่สงครามจะนำเทวรูปเหล่านี้ย้ายไปย้ายมาอีกหลายครั้ง จนท้ายสุดมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อชมพิธีล้างพระพักตร์เสร็จ ผมกลับมาที่โรงแรมอีกครั้งเพื่ออาบน้ำ กินข้าวกันก่อน ก่อนที่จะลุยจุดหมายต่อไปครับ

จุดหมายที่ 2 ของผมอยู่ที่วัดชเวนันดอจอง (Shwe Nan Daw Kyaung) เป็นวัดที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง แต่เดิมเป็นพระตำหนักของพระเจ้ามินดงในพระราชวังมัณฑะเลย์ และท่านได้สวรรคตที่นี่ จากนั้นพระเจ้าสีป่อได้รื้อถวายวัดแห่งนี้

ตัววัดมีความหลากหลายด้วยสถาปัตยกรรมช่างแห่งมัณฑะเลย์ มีการแกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม ผนังและชั้นหลังคา ทางวัดทาน้ำมันสีดำน้ำตาลเพื่อรักษาเนื้อไม้ ที่หลังคามีการสลักเทวดาไว้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีไม้แกะสลักเรื่องชาดกสิบชาติสุดท้ายด้วยครับ ความสำคัญของวัดนี้คือ เป็นงานช่างหลวงชิ้นสุดท้ายที่พอจะสืบดูได้ นอกนั้นสูญหายไปหมด


งานแกะสลักไม้แทบทุกพื้นที่เลยครับ

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2488 พม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ สงครามโลกครั้งที่สองได้ปะทุขึ้น กองทัพอังกฤษต้องถอนทัพกลับไปยุโรป ทำให้กองทัพญี่ปุ่นถือโอกาสเข้ายึดครองพระราชวังมัณฑะเลย์แทน จนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2488 เครื่องบินของกองทัพอังกฤษกลับมาทิ้งระเบิด ถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ ทำให้ไฟลุกไหม้อาคารไม้จนวอดวาย เปลวเพลิงโหมไหม้หมู่พระตำหนักและพระราชบัลลังก์ทองคำล้ำค่ามอดไหม้เป็นจุณ และในที่สุดพระราชวังไม้อันใหญ่โตโอฬารก็ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง วัดชเวนันดอจองเป็นอาคารเดียวที่เหลือรอดจากการทิ้งระเบิดของจักรวรรดิอังกฤษ เหตุผลคือว่า พระเจ้าสีป่อได้ย้ายอาคารนี้ออกมาเพื่อถวายวัดก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิด จึงเป็นส่วนเดียวของพระราชวังทั้งหมดในมัณฑะเลย์ที่รอดจากการโดนทำลายครับ

มีสาวน้อยมาขายพวงมาลัย เลยจับมาเป็นนางแบบซะเลย อิอิ

เดินถัดออกมาจากวัดชเวนันดอจองมานิดหน่อย ก็จะมาถึงจุดหมายที่ 3 วัดอตุมาชิ (Maha Atulawaiyan (Atumashi) Kyaungdawgyi) อตุมาชิ แปลว่า งดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้

เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว วัดแห่งนี้เคยมีองค์พระประธาน ซึ่งกษัตริย์พม่าได้ถวายเพชรเม็ดใหญ่ประดับอยู่ระหว่างคิ้วจนงดงามอย่างไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน แต่เพชรเม็ดดังกล่าวก็ได้หายไประหว่างที่เกิดการจลาจลก่อนอังกฤษจะยึดเมืองมัณฑะเลย์ได้

ซุ้มประตูลวดลายสวยงามครับ

ภายในวัดเป็นห้องโถงกว้างขวางมาก ๆ

เดินถัดออกมาจากวัดอตุมาชิมานิดหน่อย ก็จะถึงจุดหมายที่ 4 วัดกุโสดอ (Ku Tho Daw) หรือวัดเจ้ากุศล

วัดกุโสดอ (Ku Tho Daw) หรือวัดเจ้ากุศล เป็นวัดที่พระเจ้ามินดง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 และพระองค์ทรงให้จารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อน 729 แผ่น ถือเป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี และได้นำมาประดิษฐานในมณฑป อยู่รอบพระเจดีย์มหาโลกมารชิน

พระเจดีย์มหาโลกมารชิน สูง 30 เมตร ซึ่งจำลองรูปแบบมาจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกองแห่งเมืองพุกาม

เด็กน้อยขายพวงมาลัย น่ารักดีครับ

ส่วนใหญ่แล้วพ่อค้าแม่ค้ามักจะให้เด็กตัวเล็ก ๆ เอาดอกไม้มาขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวเอ็นดูเด็ก ๆ แล้วจะได้อุดหนุน แต่ผมไม่ได้อุดหนุนครับ แต่เอาลูกอมแจกเด็ก ๆ แทนครับ

พระไตรปิฏกที่จารึกบนหินอ่อนครับ

ผมว่าจุดเด่นของวัดนี้คือหอพระไตรปิฎกสีขาว ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่ววัดเต็มไปหมด ที่นี่ยังรายล้อมไปด้วยต้นพิกุลมากมายครับ

จุดหมายที่ 5 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดอตุมาชิ คือวัดสันตมุณี (Sandawmani Paya) พระเจ้ามินดงโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้เพื่ออุทิศถวายเป็นกุศลแก่พระมหาอุปราชกะนอง ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการทหาร การเศรษฐกิจ และวิศวกรรม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ ที่ถูกพวกขบถปลงพระชนม์ ด้วยหมายจะแย่งชิงพระราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2409 อันเป็นชนวนหนึ่งที่พม่าต้องเสียเมืองให้แก่อังกฤษ องค์เจดีย์จำลองแบบมาจาก มหาเจดีย์ชเวสิกอง เช่นเดียวกับวัดกุโสดอ

โปรดให้อัญเชิญ “พระสันติมุนี" พระพุทธรูปหล่อด้วยเหล็กในสมัยพระเจ้าปดุง จากเมืองอมรปุระมาเป็นพระปฏิมาประธาน จึงถวายนามว่า “สันติมุนี"

โปรดเกล้าฯให้สร้างมณฑปบรรจุพระศพพระมหาอุปราช พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ถูกขบถฆ่ารายล้อมพระเจดีย์ด้วย ต่อมา ฤษีอูขันตี ผู้รวบรวมจิตศรัทธาสร้างปูชนียสถานที่มณฑะเลย์คีรี ได้ใช้ช่างจารึกคำอรรถาธิบายพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหิน 1,774 แผ่นด้วยภาษาพม่า พร้อมมณฑปสีขาวครอบไว้ เข่นเดียวกับที่วัดกุโสดอ วัดแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยเจดีย์สีขาวอยู่เต็มไปหมดเลย สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ

จากนั้นเราเดินทางกันต่อเพื่อจะไปวัดชเวอินบิน ระหว่างทางแวะชมการสาธิตการทำทองคำเปลวครับ เริ่มตั้งแต่การตีทอง การนำทองคำที่ตีแบนแล้วมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาวางบนกระดาษเพื่อเตรียมนำออกจำหน่าย ผมเห็นคนงานที่ตีทองแล้วปวดหลังแทนเลยครับ เพราะเขาทั้งต้องแบกค้อนที่หนัก แถมยังต้องก้ม ๆ เงย ๆ ตีทองอยู่เป็นเวลานานสองนาน

ภายในศูนย์แสดงยังมีสินค้าที่เกี่ยวกับทองคำเปลวจำหน่ายด้วยครับ

จุดหมายที่ 6 ของผมอยู่ที่วัดชเวอินบิน (Shwe in bin kyaung) ซึ่งเป็นวัดไม้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2438 วัดนี้ไม่อลังการงานแกะสลักเหมือนวัดชเวนันดอจอง แต่ก็บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นพม่าได้เป็นอย่างดีครับ

องค์พระประธานภายในวัดครับ

แต่ภายในวัดเหมือนไม่ค่อยมีการทำความสะอาดกันเท่าที่ควร สังเกตได้จากมีหยากไย่อยู่เต็มไปหมดเลยครับ

แถมเวลาเดินต้องอาศัยวิชาตัวเบาเป็นที่สุด เพราะเสียงไม้เอี๊ยดอ๊าดทุกย่างก้าวที่เราเดินเลยจริง ๆ ผมอยู่วัดนี้ไม่นาน ก็เดินทางกันต่อสู่จุดหมายที่ 7 พระราชวังมัณฑะเลย์ครับ

ภายหลังจากที่พระเจ้ามินดงย้ายราชธานีมาที่มัณฑะเลย์ พระองค์ทรงให้สร้างพระราชวังไม้สักแห่งนี้ขึ้นใน พ.ศ.2400 โดยใช้เวลาปีเศษจึงแล้วเสร็จ พระราชวังไม้สักแห่งนี้เป็นที่ร่ำลือกันว่า งามสง่ากว่าใครในอุษาคเนย์ ภายในเป็นที่ตั้งหมู่มหามณเฑียร แต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของกองทัพอังกฤษกลับมาทิ้งระเบิดถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ ทำให้ไฟลุกไหม้อาคารไม้ต่าง ๆ วอดวายเป็นจุณ

แต่มี 3 สิ่งที่หลงเหลือจากการโดนทำลาย คือ หอคอย กำแพงเมือง และคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

ต่อมารัฐบาลพม่าได้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ทับซ้อนบนที่เดิม พื้นที่โดยรอบปัจจุบันเป็นที่ตั้งของทหาร มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด การเข้าชมต้องเข้าออกทางด้านทิศตะวันออกเท่านั้น โดยจะต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าชมที่ประตูทางเข้า

มาเยี่ยมชมพระราชวังแห่งนี้แล้ว อย่าลืมขึ้นหอคอยเพื่อชมวิวมุมสูงของพระราชวังแห่งนี้ด้วยครับ

เย็นนี้ผมมีโปรแกรมไปดูแสงสุดท้ายที่ Mandalay Hill กันครับ ระหว่างทางเลยแวะจุดหมายที่ 8 ของผมก่อน คือวัดเจ้าต่อจี

จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ พระที่สกัดจากหินอ่อนขนาด 30 ลูกบาศก์เมตร มาเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตัก 9 ศอก โดยใช้เวลาสกัดเพียง 3 วันเท่านั้นครับ ถือเป็นพระหินอ่อนทั้งองค์ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ไม่กี่องค์ในพม่า องค์แรกผมเคยเห็นที่วัดพระหินอ่อน (Marble Buddha) ในกรุงย่างกุ้งครับ

รถตู้ค่อย ๆ พาผมไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ มองออกไปนอกหน้าต่างก็เริ่มเห็นเมืองมัณฑะเลย์มุมสูง ระหว่างทางก็เห็นมีชาวบ้านบางคนเดินเท้าจากพื้นราบเพื่อขึ้นมาด้านบน ไม่นานนักรถตู้ก็มาจอดที่ลานจอดรถ จากจุดนี้เราจะต้องเดินเท้าขึ้นบันไดสู่วัดเขามัณฑะเลย์ (Mandalay Hill Temple) ระยะทางไม่ไกลมากนัก เดินไปดูสินค้าที่มาเปิดขายอยู่สองฝั่งบันไดไปตลอดเส้นทาง ดูเพลินๆ แป๊บเดียวก็ถึงด้านบนของวัดแล้วครับ ถ้าหากใครไม่อยากเดินก็สามารถขึ้นบันไดเลื่อนได้ จริง ๆ รู้สึกจะมีลิฟต์ด้วยแต่เขาปิดครับ ด้านบนเสียค่ากล้อง 500 จ๊าดครับ

ผมมาถึงด้านบนค่อนข้างเร็ว เลยมีเวลาเดินหามุมถ่ายรูปที่ต้องการได้พอสมควร แต่จุดที่ผมต้องการถ่ายภาพคือ ภาพมุมสูงของวัดสันตะมุณี ซึ่งจะมองเห็นเจดีย์สีขาว ๆ นับร้อย ๆ องค์ตั้งเรียงรายกันอยู่ แต่ผมก็เดินวนจนรอบจุดชมวิวบนวัดเขามัณฑะเลย์แล้ว ก็ไม่เห็นมุมที่ต้องการ ผมเลยตัดสินใจวัดดวงเดินลงจากวัดเขามัณฑะเลย์เพื่อหามุมที่มองเห็นวัดสันตะมุณีให้ได้ ใจก็คิดว่า หากเดินหาแล้วไม่เจอ คงแห้วทั้งมุมวัดสันตะมุณีและพระอาทิตย์ตกดิน

ผมเดินถัดลงมาจากลานจอดรถนิดหน่อย ก็มองเห็นบันไดลงไปที่ไหนสักแห่ง มองดูแล้วเริ่มมีความหวังที่จะเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากจุดชมวิวด้านบน เพราะบันไดนี้อยู่คนละด้านกับจุดชมวิวครับ เดินลงไปก็ลุ้นไปว่าจะเหนื่อยฟรีหรือไม่ แต่ท้ายสุด เหมือนสวรรค์มาโปรดครับ ผมเห็นหมู่เจดีย์สีขาวที่ผมต้องการตั้งเรียงรายอยู่เบื้องหน้า มันช่างสวยงามจริง ๆ เพราะถ้าหากผมอยู่บนพื้นราบคงไม่มีโอกาสได้เห็นหมู่เจดีย์จำนวนมากมายของวัดสันตะมุณีแบบนี้อย่างแน่นอน

วัดกุโสดอครับ อยู่ข้าง ๆ วัดสันตะมุณี

เมื่อได้มุมที่ต้องการแล้ว เกิดอาการโลภขึ้นมาครับ อยากจะได้วิวพระอาทิตย์ตกดินบนจุดชมวิวขึ้นมาอีก เลยรีบสาวเท้าทั้ง ๆ ที่ผมปวดเท้าสุด ๆ แต่ก็นะเพื่อรูปที่ต้องการ ปวดยังไงก็ต้องทนครับ

เมื่อขึ้นมาถึงด้านบนวัดอีกครั้ง ปรากฏว่านักท่องเที่ยวแห่กันขึ้นมาดูพระอาทิตย์ตกดินกันอย่างเนืองแน่น ผมมองหาเพื่อนร่วมทริปเป็นอันดับแรก เมื่อหาเจอก็ค่อย ๆ แทรกตัวเข้าไปเพื่อไปอาศัยพื้นที่สำหรับกางขาตั้งกล้องครับ วันนี้ฟ้าเป็นใจให้กับพวกผม ทำให้มีโอกาสได้เห็นไข่แดงดวงโตค่อย ๆ หายลับไปหลังทิวเขา

แสงสีทองสาดส่องไปตามทิวต้นไม้และบ้านเรือน ที่ยามนี้มีสายหมอกบาง ๆ ปกคลุมอยู่ ดูสวยงามมากจริง ๆ ครับ

ผมรออยู่สักพักเห็นแสงสุดท้ายไม่ปรากฏก็เลยเดินทางกลับ ระหว่างทาง แสงสุดท้ายเกิดปรากฏกายขึ้นมาซะงั้น จะจอดรถถ่ายภาพก็ไม่ได้เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน แถมมีรถคันอื่น ๆ ทยอยลงตามมาเป็นสาย เสียดายมากจริง ๆ ครับ

มื้อค่ำนี้เราฝากท้องกับร้านโก้อาหารไทยอีกครั้ง เพราะยังติดใจรสชาติอันจัดจ้านไม่ไหว จริง ๆ มื้อนี้เราจองโต๊ะไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวานแล้ว เด็กในร้านบอกว่าเต็ม แต่ กี้ ไกด์ของผม อาศัยจริตจะก้านนิดหน่อย เจ้าของร้านเลยแทรกคิวให้เราช่วงหกโมงครึ่ง แถมยังขอค่ามัดจำจากพวกเราล่วงหน้าด้วย นี่ถ้าเราไม่ได้จองล่วงหน้า คืนนี้เราคงไม่ได้กินอาหารไทยอีกแน่นอนครับ หลังอาหารกลับสู่ที่พัก รีบเข้านอนเพราะตอนเช้าผมจะต้องบินไปอินเลครับ

ตามไปเที่ยวอินเล และ ย่างกุ้ง กันต่อที่

Myanmar Now or Never # 3 : Inle Lake , Yangon

https://th.readme.me/p/1364


ความคิดเห็น